วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

จิตอาสา...ช่วงหนึ่งของประสบการณ์ที่ดี

          สวัสดีครับ พบกันอีกแล้วนะครับกับบทความใหม่ของ My Ordinary Story สำหรับบทความนี้ก็มีจุดเริ่มต้น แนวคิด มาจากการอ่านหนังสือทั่วไป ดูรายการทีวีรายการต่างๆ ท่องเน็ท และก็อีกหลายโอกาสที่ผมมีโอกาสพบเจอกับคำว่า "จิตอาสา" มันทำให้ผมย้อนนึกถึงตัวเองว่า เอ๊ะ แล้วผมละเคยทำอะไรที่เป็นจิตอาสากับเขาบ้างหรือปล่าว พอนั่งนึกดูแล้ว เอ้... ก็มีอยู่บ้างกับเขาเหมือนกันนะครับ
          เริ่มจากตอนที่ผมย้ายมาทำงานอยู่ชลบุรีใหม่ๆ ก็สักสิบกว่าปีมาแล้ว ผมมีโอกาสได้อาสาทำงานร่วมกับมูลนิธิไตรคุณธรรม จังหวัดชลบุรี ทำงานกู้ภัยฯในเขตตำบลหนองไม้แดง อยู่ด้านหลังของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เป็นอาสาสมัครประจำจุดที่ 25 และจนถึงปัจจุบันนี้ผมก็ยังเป็นสมาชิกของมูลนิธิฯอยู่เลยนะครับ แต่ว่าย้ายมาอยู่ประจำจุดที่ 5 กับเพื่อนรุ่นน้องที่ชอบพอกัน ในระหว่างที่ผมทำงานกู้ภัยใหม่ๆ ผมยังไม่มีลูกที่ต้องคอยดูแล ผมเลยให้เวลากับงานอาสาสมัครได้เต็มที่ แต่ปัจจุบันก็จะอยู่เบื้องหลังและเป็นผู้แจ้งเหตุเป็นส่วนใหญ่ เพราะด้วยความที่อายุ และความรับผิดชอบมากขึ้นเลยต้องวางมือให้รุ่นน้องเขาลุยกัน
         แต่ระหว่างที่ผมทำงานอาสาสมัครร่วมกับหน่วยกู้ภัยฯ ผมก็มีประสบการณ์ดีๆ มากมายกับเพื่อนๆสมาชิกอาสาสมัครที่มีจิตอาสาที่ทำงานด้วยกัน ผมมีโอกาสได้รับรู้เรื่องราว เหตุและผลที่พวกเขาเหล่าอาสาสมัครยอมเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อออกมาคอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความทุกข์และเดือดร้อนในยามค่ำคืนดึกๆดื่นๆ แทนที่จะไปเที่ยวเตร่ กินเหล้าเมายา เก๊ะกะ แว้นซิ่งให้ชาวบ้านรำคาญ หรือไปทำอะไรอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่ทว่าก็มีบ้างเหมือนกันนะครับสำหรับอาสาสมัครบางพวกที่แอบแฝงเข้ามาทำงานกู้ภัยฯ เพื่อหาประโยชน์อย่างอื่นในทางที่ไม่ค่อยดี แต่ก็มีส่วนน้อยครับ ส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ที่ตั้งใจเสียสละจริงๆ ครับ
         ทุกค่ำคืนพวกเขาเหล่าอาสาสมัคร ต้องมานั่งอดตาหลับ ขับตานอนตามจุดรับผิดชอบที่มูลนิธิฯกำหนดให้ เพื่อที่จะคอยปฏิบัติงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ได้รับความทุกข์เดือดร้อนในทุกๆ เรื่องที่พวกเขาพอจะช่วยเหลือบรรเทาได้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย อำนวยความสะดวกด้านจราจร ผัวเมียทะเลาะกัน หรือแม้แต่งูเข้าบ้านยังต้องไปบรรเทาทุกข์เลย ค่าตอบแทนของพวกเขาก็ไม่มีให้ แถมเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ รถน้ำมัน หรือชุดยูนิฟอร์มก็ต้องจัดหาจัดซื้อกันมาเอง ผมศรัทธากับความเสียสละของพวกเขาครับ
         ตัวผมเองในช่วงแรกๆ นอกจากจะได้ทำงานกู้ภัยฯแล้ว อีกอย่างที่ผมถือว่าโชคดีก็คือ ผมได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมด้านการกู้ภัยฯ กู้ชีพ การประถมพยาบาล การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทำคลอด ดับเพลิง แต่ที่ผมประทับใจและคิดว่ามีประโยชน์กับส่วนตัวผมมากที่สุดก็คือ หลักสูตรการกู้ชีพ EMERGENCY MEDICAL SERVICES หรือที่เรียกย่อๆ ว่าหลักสูตร EMS จากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งในเนื้อหาของหลักสูตรเน้นการกู้ชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่สัณญาณชีพกำลังจะหมดลง มีเนื้อหาของวิธีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยผู้บาดเจ็บในกรณีต่างๆ การประถมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนการทำคลอด ซึ่งผมถือว่านอกจากจะได้นำไปใช้กับการทำงานกู้ภัยฯแล้ว ความรู้ความสามารถมันยังติดตัวผมมาเพื่อช่วยเหลือญาติพี่น้องของผม เพื่อนฝูง หรือผู้ที่ผมประสบพบเจอในยามฉุกเฉินอีกด้วย
         อีกหนึ่งจิตอาสาของผมก็คือ "ตำรวจอาสา" ต่อเนื่องจากที่ผมทำงานกู้ภัยฯในเขตตำบลหนองไม้แดง ทำให้ผมได้มีโอกาสรู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน รวมถึงอายุผมก็มากขึ้น ทำให้วัยวุฒิมากขึ้นด้วยทำให้มีพักพวกชวนไปร่วมอาสาเป็นตำรวจอาสาป้องกันชุมชน ผมก็เลยไปสมัครและรับการฝึกอบรมจนได้มีโอกาสไปเป็นตำรวจอาสาร่วมปฏิบัติหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระยะหนึ่ง   แต่ปัจจุบันลาออกแล้วนะครับ โดยคำเรียกร้องของภรรยาและลูกๆของผม เพราะงานตำรวจอาสาภายในเขตจังหวัดชลบุรีค่อนข้างเสียงเหมือนกันครับ  เพราะจำนวนประชากรแฝงที่มาทำงานที่จังหวัดชลบุรีมีมาก ดังนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับอาญชญากรรมเลยมีมากตามไปด้วย
         แต่ถึงแม้งานตำรวจอาสาจะมีความเสี่ยงกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ผมก็ทำงานอยู่ระยะหนึ่งเหมือนกันครับ แบบว่าใจมันรักอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และดูแลเป็นหูเป็นตาเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม แบบว่าตอนนั้นไฟมันแรง กำลังวังชาก็ยังเหลือเฝือ เลยอยากจะปลดปล่อยบ้างในทางที่ดีๆ
          เหตุผลในการเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยการสมัครเป็นตำรวจอาสา ก็เพราะว่า ก่อนหน้านั้นผมมีความแครงใจหลายเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงอยากจะทดลองและเป็นประจักพยานในฐานะชาวบ้านชาวช่อง ว่าจริงๆแล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่กับสิ่งที่ผมแครงใจ
         ระหว่างที่ผมทำงานเป็นตำรวจอาสา ผมก็มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวยุทธวิธีการทำงานรวมถึง ความทุกข์ยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน ที่ต้องประสบพบเจอกับความเสี่ยงอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากในการปฏิบัติงาน ความเสี่ยงภัยต่างๆจากโจรผู้ร้าย เวลาที่มีน้อยมากสำหรับให้กับครอบครัว โดยเฉพาะรายได้หลักจากเงินเดือนข้าราชการที่น้อยนิดเสียนี่กระไร ซึ่งทำให้ผมเข้าใจชีวิตตำรวจที่ดีมากขึ้น ก็จะมีเหมือนกันครับสำหรับตำรวจที่ไม่ค่อยจะดี แต่ผมว่าถ้าเทียบสัดส่วนกันแล้วมีน้อยครับ อย่าว่าแต่วงการตำรวจเลยครับเรื่องคนไม่ดี มันมีอยู่ทุกวงการแหละครับ
         อีกหนึ่งจิตอาสาที่ผมภูมิใจครับกับ "ตำรวจโรงงาน" ในช่วงปี 2548 ในช่วงนั้นการระบาดของยาเสพติดค่อนข้างรุนแรงมาก และในจำนวนของผู้ที่เสพ ผู้ค้าส่วนหนึ่งก็จะแฝงตัวอยู่ในกลุ่มพนักงานของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดอื่นๆ ดังนั้นจึงมีโครงการของท่านพล.ต.ต.ดร. สุวิระ ทรงเมตตา ตำแหน่งในขณะนั้นนะครับปัจจุบันยศท่านเป็นพล.ต.ท.ดร.สุวิระ  ทรงเมตตาแล้ว ท่านได้ริเริ่มโครงการแนวคิดให้มีตำรวจโรงงานขึ้นมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับตำรวจท้องที่เพื่อป้องปราม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด รวมถึงอาชญากรรมอื่นๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และบริเวณโดยรอบโรงงาน ตลอดจนชุมชนใกล้เคียง
         โดยผมได้เข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรตำรวจโรงงานในรุ่นที่ 9 ฝึกกันแบบจริงๆจังๆ เลยนะครับไม่ใช่ฝึกกันเล่นๆ ประเภทสามารถออกปฏิบัติงานเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจในภาคสนามได้เลย
         เนื้อหาของหลักสูตรก็จะมีตั้งแต่ภาคทฤษฎี ซึ่งต้องเรียนรู้เรื่องอำนาจหน้าที่และกฏหมายต่างๆ ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงาน จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และครูฝึกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ





         การฝึกภาคสนามก็ฝึกหนักเพื่อให้ได้รับรู้ถึงยุทธวิธีต่างๆ ของตำรวจกันเลย อำนวยการฝึกโดยท่านพล.ต.ต.ดร.สุวิระ  ทรงเมตตา ตำแหน่งท่านในขณะนั้น ซึ่งท่านเน้นมากในการฝึกอบรม เพื่อให้ได้บุคลากรที่ดีในการที่จะไปปฏิบัติหน้าที่








         สำหรับตำรวจโรงงานรุ่นที่ 9 ก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันนะครับ น่าจะสัก ร้อยกว่านาย ผู้ที่ได้รับการฝึกก็มากันทั่วประเทศครับ แต่ส่วนใหญ่จะมาจากภาคกลางและภาคตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ เพราะพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวนมาก








         ระหว่างการฝึกก็ทั้งเหนื่อยทั้งสนุกแต่ก็ภาคภูมิใจเล็กๆ ครับที่ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของโรงงาน เป็นตัวแทนของจังหวัดในรับการฝึกอบรมในครั้งนี้










          จบหลักสูตรการฝึกก็มีงานเลี้ยงสังสรรค์ แก้เหนื่อยแก้เมื่อยกันหน่อยครับ ตามธรรมเนียม ก็สนุกสนานกันเต็มที่ตามประสาหนุ่มๆ ที่ร่างกายแข็งแรงกำยำ










         งานเลี้ยงฝึกอบรมจบหลักสูตรตำรวจโรงงานรุ่นที่ 9 นอกจากจะสนุกสนานกับการแสดงของเหล่าตำรวจครูฝึก น้องๆแด๊นเซอร์ที่แต่งตัวน่าหวาดเสียวแล้ว ผมและเพื่อนตำรวจโรงงานก็มีโอกาสได้พูดคุยกับนายตำรวจผู้ใหญ่ ซึ่งท่านทั้งหลายก็ให้ความเป็นกันเองมากครับ







         นอกจากฝึกอบรมตามหลักสูตรการอบรมตำรวจโรงงานแล้ว ทางชมรมตำรวจโรงงานแห่งชาติก็ยังมาอบรมหลักสูตรเพิ่มเติมให้อีกหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรการใช้อาวุธปืนชนิดต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ ฝึกโดดร่มที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เป็นต้น







         ในวันรับใบประกาศณียบัตรตำรวจโรงงานรุ่นที่ 9 ผมก็ภูมิใจมากยิ่งขึ้นครับเพราะได้รับเกียรติจากทูลกระม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเสด็จมาเป็นประธานในงานด้วย









         และในวันงานรับวุฒิบัตรยังมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเป็นเกียรติในงานหลายท่าน อุเหม่....เป็นปลื้มจริงๆ











         นอกจากชมรมตำรวจโรงงานแห่งชาติแล้ว พวกเราเหล่าตำรวจโรงงานยังเป็นศูนย์ประสานงานมูลนิธิคุณพุ่มด้วย











         ทั้งหมดทั้งปวงที่เล่าให้ฟัง ก็เป็นแง่มุมเล็กๆของประสบการณ์ของผมเกี่ยวกับ "จิตอาสา" ที่อยากจะแบ่งปันให้ผู้ที่เข้ามาชม Blog Story Plain For Me รับชม
          ผมไม่หวังให้คนไทยทุกคนต้องมีจิตอาสาหรอกครับ ขอเพียงให้ทุกคนอย่าไประเมิดสิทธิของคนอื่นเขา เอาเปรียบ ข่มเหงรังแก รวมถึงใช้อภิสิทธิ์ต่างๆที่ตัวเองมีโอกาสไประเมิดสิทธิ์คนอื่นเขาก็พอแล้วครับ
          สำหรับบทความนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะเวียนมาเยี่ยมชม Blog My Ordinary Story  มีความเห็นอย่างไรก็แสดงได้นะครับน้อมรับทุกความเห็น

ขอให้ประเทศไทยจงเจริญ            สวัสดีครับ......

1 ความคิดเห็น: