วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

ประสบการณ์หลังเขากับครู ตชด.ที่อุ้มผาง

       ผมมีประสบการณ์ที่น่าจดจำอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ผู้คนทั่วๆไปได้รับรู้ มันเกิดขึ้นช่วงที่ผมทำงานเป็นครูอัตราจ้างอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร โดยผมทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่คณะวิชาช่างยนต์ แผนกวิชาช่างยนต์ ทำอยู่ช่วงสักประมาณปี พ.ศ. 2539 ถึง 2542 น่าจะได้ ถ้าผมจำไม่ผิดนะ และมีอยู่ครั้งหนึ่งทางวิทยาลัยฯ ได้สนองโครงการพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยจะจัดส่งคณาอาจารย์จากแผนกช่างต่างๆ เช่น แผนกช่างยนต์ แผนกช่างไฟฟ้า และแผนกคหกรรมฯ ไปช่วยสอนวิชาชีพให้กับเด็กๆ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และชาวบ้านทั่วๆไป โดยเป้าหมายให้เดินทางไปที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคี อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกล ร่วมถึงเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ทางกรมอาชีวะศึกษากำหนดมาให้ปฏิบัติ ในครั้งนั้นทางผู้บริหารของวิทยาลัยฯ ได้เลือกสรรค์บรรดาอาจารย์ที่มีอยู่ในวิทยาลัยฯ โดยมีเงื่อนไขในการเลือกคือ ต้องเป็นอาจารย์ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่จะไปสอน เช่น อาจารย์แผนกช่างยนต์ ให้ไปสอนเด็กๆ และชาวบ้านให้รู้จักวิธีการดูแลรักษาเครื่องยนต์ และอาจถึงซ่อมแซมเครื่องยนต์ได้เลย อาจารย์แผนกช่างไฟฟ้า ให้ไปสอนเด็กๆ และชาวบ้านดูแลรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนอาจารย์แผนกคหกรรมฯ ให้ไปสอนเด็กๆ ตัดผม เย็บผ้า ทำของชำร่วย อะไรประมาณนี้ครับ 
       อีกเงื่อนไขในการเลือกคือต้องเป็นอาจารย์หนุ่มๆ สาวๆ เพราะสถานที่ ที่จะไปเป็นพื้นที่ทุรกันดาร หากเอาอาจารย์ที่มีอายุมากไปอาจเดินทางไปไม่ถึง และอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ผช.ผอ.ท่านหนึ่งขออนุญาติไม่เอยนามท่าน ท่านเป็น ผช.ผอ.สุภาพสตรีที่ใจดีมากเป็นผู้นำทีมงานไป และในโครงการนี้ผมก็ถูกเลือกไปกับเขาด้วย (แบบว่าที่แผนกวิชาผมหนุ่มสุดๆ) โดยเป็นตัวแทนของคณะวิชาช่างยนต์ ทีมงานแผนกช่างยนต์ก็มีอาจารย์ 1 คน(ผมเอง) และนักศึกษา ปวส.ปีที่ 2 อีก 2 คน 
       ในการเดินทางไปครั้งนั้น แต่ละแผนกวิชาช่างต่างก็ตระเตรียม เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อการสอนกันไปเต็มที่ กะไปโชว์อ๊อฟ กันเต็มเหนี่ยว โครงการนี้ใช้เวลาในการไปดำเนินการประมาณ 2 สัปดาห์ โดยกำหนดการเดินทางครั้งนั้น ให้ออกจากวิทยาลัยฯในตอนเช้าให้ไปถึง ค่าย ตชด.346 อ.แม่สอด จ.ตากก่อน แล้วให้ทาง ตชด.เป็นผู้นำทางเข้าไป เพราะช่วงที่ไปปัญหาด้านยาเสพติดยังรุนแรงอยู่ และหมู่บ้านที่ไปก็เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าม้ง และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งทาง ตชด. เองก็ยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ขืนไปกันเองอาจถูกเข้าใจผิดได้จากผู้ไม่ประสงค์ดีได้

      พูดถึงอำเภออุ้มผางบางคนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักดี งั้นผมขออนุญาติเล่าประวัติ อำเภออุ้มผางให้รู้สักหน่อย ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้เอามาจากเว็บไซด์หนึ่ง ซึ่งผมดูแล้วตรงกับคำบอกเล่าของคนอุ้มผางที่ผมเคยสอบถามมา ประวัติอำเภออุ้มผางก็มีอยู่ว่า
 อำเภออุ้มผาง สันนิษฐานว่าเดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง เมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้ว ต่อมาได้มีชาวไทยภาคเหนืออพยพลงมาหาที่ทำกินทางใต้เขตอำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด ในปัจจุบันบางส่วนก็ล่วงเลยลงมาทางใต้ จนถึงอำเภออุ้มผาง เมื่อมามากเข้าก็กลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเมืองชายแดน มีฐานะเป็นบ้านแม่กลองเก่า หมู่ที่ 4 ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผางได้มีสภาพเป็นอำเภอตามการปกครองในรูปของเทศาภิบาลเมื่อปี พ.ศ. 2441 เรียกว่า “อำเภอแม่กลอง” ขึ้นอยู่กับจังหวัดอุทัยธานี ครั้นปี พ.ศ. 2449 ได้โอนไปขึ้นอยู่กับจังหวัดกำแพงเพชร และเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภออุ้มผาง” จนถึงปี พ.ศ. 2469 ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกายุบอำเภอลงเป็น กิ่งอำเภออุ้มผาง และให้ไปขึ้นกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทั้งให้ย้ายที่ว่าการอำเภอ ไปสร้างใหม่เป็นที่ว่าการกิ่งอำเภอที่บ้านอุ้มผาง หมู่ที่ 1 ตำบลอุ้มผาง ในปัจจุบัน

      ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2502ทางราชการได้ออกพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภออุ้มผาง เป็นอำเภออุ้มผาง ขึ้นกับจังหวัดตากเป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ 
       สำหรับชื่อ “อุ้มผาง” นั้น เข้าใจว่ามีที่มาดังนี้ ตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2472 ซึ่งขณะนั้นขึ้นอยู่กับจังหวัดอุทัยธานี และถูกกำหนดเป็นด่านหน้าคอยตรวจตราชาวพม่าที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร  มีเจ้าหน้าที่ประจำคอยตรวจตราคนเข้าออก และตรวจค้นหนังสือเดินทาง ตั้งสำนักงาน (ด่าน) อยู่ที่บ้านกุยเคราะ ตำบลแม่กลอง (ปัจจุบันคือหมู่ที่ 5 ตำบลแม่จัน) และได้จัดตั้งที่พักพลตระเวนอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภออุ้มผาง ผู้ที่เดินทางมาจากพม่าจะเอาหนังสือเดินทางเก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่มีฝาปิดมิดชิด และจะเปิดกระบอกหนังสือเดินทางแสดงต่อนายด่าน เมื่อผ่านด่านตรวจตรา การเปิดกระบอกเอาหนังสือเดินทางแสดงต่อเจ้าหน้าที่นั้น พวกชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเรียกว่า “อุมผะ” ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “อุ้มผาง” ซึ่งเมื่อเรียกกันนานไป ทำให้เพี้ยนไปดังกล่าว อำเภออุ้มผาง จัดได้ว่าเป็นอำเภอที่ทุรกันดารจนแทบจะกล่าวได้ว่าที่สุดในประเทศก็ว่าได้ และยังเคยมีปัญหาเรื่องผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งกล่าวได้ว่ารุนแรงที่สุดในพื้นที่จังหวัดตาก ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพพื้นที่ อำนวยประโยชน์ต่อการดำเนินงานของฝ่ายตรงข้าม  มีเขตงานใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่ตำบลแม่ละมุ้ง และตำบลแม่จัน ฝ่ายเราก็มีศูนย์อำนวยการและประสานงานรักษาความมั่นคงภายในอำเภออุ้มผาง
    (ศอป.รมน.อ.อุ้มผาง) ทำหน้าที่ปราบปราม จนปัจจุบันนี้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หมดไปจากอำเภออุ้มผาง พื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ เคยเข้าไม่ได้ขณะนี้ก็สามารถเข้าได้แล้วด้วยความปลอดภัยเกือบจะ ร้อยละ 100    แต่อย่างไรก็ตามความกันดารนั้นยังคงสภาพเดิมอยู่ต่อไป
     อำเภออุ้มผาง  แบ่งเขตการปกครองออกเป็น  6 ตำบล 66 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 5 อบต.  มีประชากรทั้งสิ้น 22,523 คน เป็นชาย 11,742 คน หญิง 10,781 คน  มีพื้นที่ทั้งสิ้น 4,325 ตร.กม.
     มีเรื่องเล่าติดตลกของคนอุ้มผาง ที่เคยเล่าให้ผมฟังในวงสุรา เขาเล่าให้ฟังว่า ตอนช่วงที่ตั้งอำเภอใหม่ๆ นายอำเภอจากที่อื่นไม่ยอมย้ายมาอยู่ที่อำเภออุ้มผาง เพราะรู้ถึงความกันดารและอันตรายจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ดังนั้นผู้ว่าในสมัยนั้นจึงต้องเรียกหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งสมัยนั้นเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงส่วนใหญ่ให้มาทดสอบความรู้ โดยความสามารถที่จำเป็นขณะนั้นคือการนับเลข เพราะต้องใช้ในการนับจำนวนประชากร จากการทดสอบหัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมดของท่านผู้ว่าตั้งแต่เช้าจนเย็น ไม่มีใครสามารถนับเลขได้เกินกว่า 20 เลยสักคน จนท่านผู้ว่าเริ่มจะท้อแท้แล้ว จนถึงคนสุดท้ายซึ่งเป็นความหวังของท่านผู้ว่านับเลขมาถึง 95 ก้าวสิกหด ก้าวสิกแจด ก้าวสิกปาด ก้าวสิกก้าว........... เจ็กสิก ????? สุดท้ายท่านผู้ว่าเลยต้องเลือกคนนี้เป็นนายอำเภอคนแรก ทั้งที่นับเลขได้ไม่ถึงร้อย เป็นเรื่องโจ๊กในวงสุรา อย่าคิดมากครับ.. 
  

      โม้ซะเพลิน ต่อนะครับ เราออกเดินทางจากค่าย ตชด.346 อ.แม่สอด โดยมี ตชด.นำทางและคุ้มกันไปในตัว ระหว่างทางจาก อ.แม่สอด ไป อ.อุ้มผางโหดมาก ต้องผ่านทางโค้งถึง 1219 โค้ง แต่ละโค้งเป็นโค้งหักศอกและด้านข้างก็ยังเป็นเหวลึกอีก ถ้าใครไม่ชินเส้นทางจะอันตรายมากเลยครับ สำหรับเส้นทางนี้..นึกแล้วเหจี้ยว...!










     ขบวนคณะของเราเดินทางอย่างช้าๆ เพื่อความปลอดภัย เพราะดูจากสภาพเส้นทางแล้วถ้าพลาดพลั้งลงไปไม่มีโอกาสแก้ตัวแน่ แต่ดูอีกทีวิวข้างทางก็สวยดีเหมือนกันนะ ดูวิวไปเรื่อยๆทำให้ลืมเสียวกับเส้นทางได้เหมือนกัน..








      เราเดินทางจนถึงอำเภออุ้มผางจนได้ แต่การผจญกับการเดินทางยังไม่หมดครับ เพราะต้องไปต่อด้วยทางแยกเข้าหมู่บ้าน ซึ่งกันดารสุดๆ เลยครับ เป็นทางดินเหมือนทางเกวียนเลยครับ พวก ตชด. เล่าให้ฟังว่าธรรมดาพวกเขาจะส่งสเบียงกันทุกสัปดาห์ โดยใช้ฮอลิคอปเตอร์ ถ้าเป็นฤดูฝนจะไม่สามารถเข้าออกหมู่บ้านโดยรถยนต์ได้ต้องใช้วิธีเดินเท้าเท่านั้น เพื่อนผมที่เป็นครู ตชด.บอกว่าเขาจะกลับบ้านไปเยี่ยมภรรยาเยี่ยมลูกกันเดือนละครั้ง ตอนกลับต้องอาศัยฮอลิคอปเตอร์กลับช่วงที่มาส่งเสบียง และหนึ่งในเสบียงที่ต้องจัดส่งให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นประจำก็คือ ไอโอดีนชนิดน้ำ ที่นำมาหยดผสมน้ำให้เด็กกินนักเรียนกินเพื่อป้องกันโรคคอหอยพอกนั้นเอง

     ภาพนี้คือสภาพของเส้นทางที่เข้าหมู่บ้าน และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคี เหมือนทางเกลียนดีๆนี่เอง..










        วิวบนเส้นทางเข้าหมู่บ้านและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคี สวยดีเหมือนในหนังเลย..










      นอกจากข้ามเขาแล้วบางช่วงต้องข้ามแม่น้ำเล็กๆ ด้วย ถามพวก ตชด.บอกว่าเป็นต้นสายของแม่น้ำแม่กลอง ทำเอาผมงงๆ เหมือนกัน แต่โชคดีวันนี้ขบวนรถสามารถข้ามสะพานอีกแห่งได้ เลยลงมาชมบรรยากาศบริเวณสะพานเล็กๆ ที่ใช้สำหรับข้ามแม่น้ำ..






      คณะเรามาถึงโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคีเอาก็บ่ายแก่ๆ ทางคณะครู ตชด.ที่ประจำอยู่ที่โรงเรียนออกมาต้อนรับพวกเราอย่างเป็นกันเอง แล้วจัดให้พวกเราเข้าที่พัก ซึ่งเป็นบ้านพักครูของครู ตชด. สภาพบ้านเป็นบ้านทรงกะเหรี่ยงทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง หลังคามุงหญ้าคา ประดับด้วยดอกไม้นานาชนิด สวยมากเลย เสียดายที่ช่วงนี้ภาพถ่ายเสียหมดเลยครับ ส่วนอาหารการกินที่โรงเรียนมีโรงครัวของครู ตชด. วัตถุดิบในการทำอาหารที่เป็นของโรงเรียนก็จะเป็นพวกผักที่นักเรียนปลูก ไก่ ไข่ ปลา ที่นักเรียนเลี้ยงไว้ อาหารที่ทำอีกส่วนเป็นเสบียงที่คณะเรานำมาจากวิทยาลัยฯ ซึ่งมีพอจะเลี้ยงพวกเราและครู ตชด. ได้เป็นเดือนๆ ในคืนแรกหลังจากพูดคุย หุงหาอาหารกินกันแล้ว ทุกคนก็แยกย้ายกันไปจัดสัมภาระของตัวเองเข้าที่เข้าทาง แล้วเข้านอนเตรียมตัวเพื่อแนะนำตัวกับหัวหน้าหมู่บ้าน และเด็กๆ ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

     คืนที่ผ่านมาหลับสนิททั้งคืน อาจเป็นเพราะอ่อนเพลียกับการเดินทางที่สมบุกสมบัน ตื่นเช้ามาอากาศบนนี้ดีมาก เลยออกมาถ่ายภาพโดยรูปบนหันหลังให้โรงเรียน รูปล่างหันหน้าให้โรงเรียน จะเห็นว่ารอบๆ โรงเรียนมีแต่เขา โรงเรียนไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน แต่ตั้งอยู่ระหว่างหมู่บ้าน 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงกับหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง สอบถามครูใหญ่ของโรงเรียน จ.ส.ต ลิขิต ซึ่งตอนหลังกลายเป็นเพื่อนสนิทของผม บอกว่า สาเหตุที่โรงเรียนต้องตั้งอยู่ในสภาพแบบนี้ก็เพราะ เป็นยุธภูมิที่ได้เปรียบทางการรบเพราะหากเกิดสิ่งไม่คาดฝันหรือสิ่งไม่ดีไม่งามขึ้นจะได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม แล้วจ่าขิตยังเล่าให้ฟังอีกว่าก่อนหน้าที่ชุดครู ตชด. ชุดนี้เข้ามาสอน ครู ตชด. ชุดแรกๆ เคยถูกชาวบ้านซึ่งไม่รู้ว่ามาจากกลุ่มใหน เข้ามาปล้นและฆ่าครู ตชด. ตายไป 2 คน ได้ยินอย่างนี้แล้วเสียบสันหลังวาบเลยเหมือนกันผม..

     เช้าวันแรกครู ตชด. โดยครูใหญ่ จ่าขิต ได้แนะนำคณะพวกเรากับหัวหน้าหมู่บ้านทั้งสองหมู่บ้าน รวมถึงเด็กๆ ด้วยผมสังเกตุดูกิริยาของเด็กๆ และพวกชาวบ้าน สามารถรับรู้ได้เลยว่า พวกเขางงๆ และแปลกใจว่าพวกเราคือใคร มาทำไม แต่ก็ดูตื่นเต้นว่าพวกเราจะมาทำอะไรให้พวกเขา







   บรรยากาศช่วงเช้าวันแรกหน้าเสาธง อย่าว่าแต่พวกเด็กๆ และชาวบ้านจะตื่นเต้นเลย ผมเองก็ตื่นเต้น เคยสอนแนะนำให้ความรู้กับพวกเด็กอาชีวะศึกษาที่เป็นเด็กตัวโตๆ วันนี้ต้องมาสอนแนะนำให้ความรู้กับเด็กตัวเล็กๆ ชาวบ้านที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เลย อีกทั้งยังเป็นชาวเขาเผ่าม้ง และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งการใช้ภาษาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไรเลย แล้วผลจะออกมาแบบใหนนะ..  กังวลจังเลย..




    โฉมหน้าเด็กๆ ที่เรียนอยู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองคี น่าจะมีจำนวนสักเกือบ 100 คนได้ มีทั้งเด็กชาวเขาเผ่าม้ง และเด็กชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีครู ตชด. สอนประจำอยู่ 4 คน โดยมี จ่าขิต เพื่อนผมเป็นครูหยัยใหญ่..









    วันแรกของการสอน มันตรงกันข้ามกับความคิดของผมในครั้งแรกเลยว่า พวกเด็กๆ และชาวบ้านคงไม่สนใจหรอก เพราะมันดูแล้วคงไม่มีอะไรน่าสนใจ ประกอบกับพวกชาวบ้านต้องออกไปประกอบอาชีพหลักของพวกเขาด้วย จากการสอบถามพวกเด็กๆ พ่อแม่ของพวกเขาทำไร่กะหล่ำปลีกัน ต้องออกจากบ้านไปแต่เช้า กว่าจะกลับก็เย็นตะวันตกดิน วันนี้เด็กๆ และชาวบ้านสนใจเรียนกันมาก อาจเป็นเพราะ เป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา หรือคุณครูสอนเก่งแถมหล่ออีกด้วยก็ไม่รู้ อันหลังนี่หล่อเล่น..
แต่มันก็ทำให้คนสอนอย่างผมมีความสุขสุดๆเลย


    ตั้งใจฟังกันจังเลย มองกันตาแป๋ว จ่าขิตก็มาเรียนกับเขาด้วย ตลอดทั้งวันผมมีความสุขกับการถ่ายทอดความรู้มาก จนลืมความเหนื่อยเลย แถมตอนเย็นยังได้ลงเตะฟุตบอลกับพวกเด็กๆ และชาวบ้านด้วย ขณะที่ผมสอนอยู่อีกมุมก็จะมีอาจารย์จากคณะวิชาคหกรรมฯ สอนพวกเด็กๆ และชาวบ้านที่เป็นผู้หญิง เย็บผ้า ตัดผม ซึ่งก็มีผู้เข้าเรียนจำนวนมาก เช่นเดียวกัน




    ผมขึ้นมาอยู่ที่โรงเรียนหลายวันแล้ว เริ่มมีความคุ้นเคยกับชาวบ้านมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นกับชาวบ้านว่าพวกเราตั้งใจมามอบความรู้ตามพระราชดำริ ด้วยความจริงใจ ประกอบกับพวกชาวบ้านเคารพและรักในสมเด็จพระเทพฯ เป็นทุนอยู่แล้ว ผมกับคณะเลยจะลองเข้าไปเที่ยวในหมู่บ้าน โดยมีหมู่บ้านให้เลือก 2 หมู่บ้าน แน่นอนผมเลือกหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงก่อน โดยนัดกับลูกศิษย์และชาวบ้าน (สาวๆ) ว่าในวันพระจะขอเข้าไปทำบุญด้วยในหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อ้อ ลืมบอกไป ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่นี่นับถือศาสนาพุทธ ขณะที่ชาวเขาเผ่าม้งบางส่วนนับถือผี บางส่วนนับถือศาสนาคริส


      มีหลายอย่างที่ผมแปลกใจในการมาทำบุญที่หมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในครั้งนี้คือ เท่าที่เห็นไม่ค่อยมีผู้ชายมาทำบุญเท่าไร เท่าที่ถามผู้หญิงที่มาทำบุญ เขาบอกว่า ไม่ไช่ผู้ชายไม่ชอบทำบุญ แต่ผู้ชายต้องออกไปทำงานทั้งวันเลยไม่ค่อยมีเวลามาทำบุญ อีกอย่างที่แปลกใจ วัดของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงไม่มีมัคธายค เพราะทุกคนสามารถท่องบทสวดต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วเลยทุกคน แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ก็สามารถท่องได้ ทึ่งจริงๆ



     อีกอย่างที่สงสัยตามประสาชายหนุ่ม เห็นสาวๆ ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบางคนใส่ชุดสีขาว บางคนใส่ชุดสีดำ บางคนใส่ผ้าถุงสวมเสื้อ แล้วมันมีความหมายอย่างไร จากการสอบถามเลยได้รับความกระจ่าง และ หายสงสัย ก็คือ ผู้หญิงชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่สวมเสื้อผ้าเป็นชุดยาวติดกันไม่ว่าจะสีอะไรก็ตาม เช่น สีขาว สีดำ สีชมพู หรือสีื่อื่นๆ หนุ่มๆ จีบได้เลยเพราะเขายังไม่แต่งงาน แต่ดูดีๆ นะถึงยังไม่แต่งงานแต่อาจมีคนจับจองอยู่แล้วก็ได้ จีบสุ่มสี่สุ่มห้า เจ็บตัวฟรีไม่รู้ด้วยนะ ส่วนผู้หญิงที่ใส่ผ้าถุงสวมเสื้อเป็นแบบสองท่อน ห้ามยุ่งเด็ดขาดเป็นเพราะว่าเขาแต่งงานแล้ว ขืนยุ่งอันนี้ไม่เจ็บตัวอย่างเดียวแล้วอาจถึงตาย...


    วันนี้ถึงคิวต้องไปสร้างความสัมพันธ์กับหมู่บ้านชาวเผ่าม้งบ้าง เวลาไปจริงๆ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด อีกอย่างเด็กๆชาวเผ่าม้ง เริ่มสนิทกับผมแล้ว เลยเอาไปเป็นตัวช่วย เจอชาวบ้านเป็นกันเองใจดี ถึงแม้ผมจะพูดกับชาวบ้านที่อายุมากๆ ไม่รู้เรื่อง แต่เด็กๆ ก็ช่วยเป็นล่ามให้ ที่หมู่บ้านชาวเผ่าม้งมีน้ำตกเล็กๆ อยู่ที่หลังหมู่บ้านด้วย พวกเด็กๆ เลยพาผมไปเที่ยว สวยมากเลยครับเป็นธรรมชาติมากเพราะเป็นน้ำตกที่ไม่มีนักท่องเที่ยว เป็นน้ำตกที่เป็นธรรมชาติจริงๆ มีชั้นเล็กๆ อยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งห่างกันมาก ต้องเดินไกลกว่าจะถึงสักชั้น และก็ยังเป็นป่ารก ตอนเข้ามาน่ากลัวเหมือนกันแต่พอถึงแล้วหายเหนื่อย หายกลัวเลยครับ

     เด็กๆ เล่าให้ฟังระหว่างไปเที่ยวน้ำตก (เด็กสาวๆ) บอกว่าผู้ชายชาวเขาเผ่าม้งสามารถมีภรรยาได้ถึง 4 คน โดยไม่ผิดธรรมเนียม และยังไม่ต้องทำงาน เลี้ยงลูก หรืองานอื่นๆ เลย โดยผู้ที่เป็นสามีจะแบ่งหน้าที่ให้ภรรยาเป็นผู้ทำแทนทั้งหมด เราคงจะเคยเห็นผู้หญิงชาวเขาเผ่าม้งขนาดทำงานในไร่ยังต้องกระเตงลูกไว้ข้างหลังเลย ไม่เหมือนคนไทยแท้ นึกแล้วอิจฉาคนไทยจริงๆ ลูกศิษย์ผมบอก เอ๊ะจีบครูหรือปล่าว.... พูดเล่น เด็กๆ คงคิดอย่างนั้นจริงๆ..



      ระหว่างที่ผมอยู่ที่โรงเรียน ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานศพของชาวเขาเผ่าม้งมาด้วย สอบถามเด็กๆ ทราบว่าคนตายเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 20 ปี เหตุที่ตายเป็นเพราะเธอผูกคอตายสาเหตุมาจากพ่อแม่เธอกีดกันไม่ให้เธอคบหากับคนต่างเผ่า เท่าที่รู้ก็เป็นคนไทยในตัวอำเภออุ้มผางนั้นแหละ เอาเป็นว่าไม่ยุ่งกับเรื่องที่เขาตายดีกว่า แต่จะเล่าบอกถึงบรรยากาศงานศพของชาวเขาเผ่าม้ง ผมได้ไปร่วมงานช่วงตอนกลางคืน สภาพที่เห็นบ้านของชาวเขาเผ่าม้ง เป็นบ้านชั้นเดียวปลูกอยู่บนดินไม่มีพื้น ไม่กั้นห้อง หลังคามุงด้วยหญ้าคา เข้าไปในบ้านเจอแขกที่มางานที่เป็นชาวเขาเผ่าม้งอยู่เต็มบ้านไปหมด เจ้าของบ้านออกมาต้อนรับด้วยเหล้าข้าวโพด แล้วเชิญไปนั่งกับผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้าน คงเห็นเราเป็นครูแล้วก็ไปกับครู ตชด. ด้วย สักพักเพื่อนครู ตชด. ที่ไปด้วยกันก็ชวนไปเคารพศพ สภาพศพแต่งตัวด้วยชุดชาวเขาเผ่าม้งเต็มยศเลย ถูกจัดให้นอนอยู่บนเตียงริมบ้าน แต่ดูไม่เหมือนเตียงนะ เพราะไม่มีขา แต่น่าจะเป็นเหมือนหิ้งที่แขวนอยู่ข้างฝามากกว่า วิธีการเคารพศพ เพื่อนครู ตชด. ทำให้ดู คือ เข้าไปยืนข้างหิ้งศพ แล้วเอามือจับศพเขย่าแล้วร้องให้ครวญครางถึงคนตายดังๆ ยิ่งดังเท่าไรก็เป็นการให้เกียรติศพและครอบครัวเท่านั้น เพื่อนผมที่เป็นครู ตชด. จ่าขิต บอกว่าคนตายเคยเป็นลูกศิษย์เขามาก่อน ผมเห็นมันจับศพเขย่าเสียเกือบตก แล้วรัองให้พรรณาถึงความดีของคนตายอยู่สักพัก แล้วก็ถอยออกมานั่งกินเหล้าข้าวโพดต่อ ผมยังอดสงสัยไม่ได้เลยว่าไอ้นี่มันเมาหรือมันเศร้าจริงๆ วะ เสียดายผมเห็นว่าเป็นงานศพเลยไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปไปด้วย เลยไม่มีภาพมาให้เห็น พอถึงคิวผมที่จะต้องเคารพศพ ผมก็เข้าไปจับที่ขาของคนตายเขย่าแล้วมองไปที่ใบหน้าของคนตาย น่าสงสารจริงๆ ภาพที่เห็นเธอเป็นเด็กสาวผิวขาวน่ารักในวัยที่ 20 กว่าๆ เสียชีวิตตอนช่วงกลางวันตอนกลางคืนยังเหมือนคนนอนหลับเลย คงเพราะเขาแต่งหน้าแต่งกายชุดชาวเขาเผ่าม้งเต็มยศด้วยหรือปล่าวก็ไม่รู้ อยู่ร่วมงานสักพักก็กลับ เพราะต้องเตรียมการสอนในวันพรุ่งนี้ ขากลับเด็กๆ ในหมู่บ้านเดินมาส่ง มืดมากแต่ก็ถึงโรงเรียนด้วยความปลอดภัย..

  เช้าๆ อากาศสดใสเลยออกมาถ่ายรูปเล่นหน้าโรงเรียนเก็บไว้เป็นความทรงจำ..











   วันนี้ผมก็ยังถ่ายทอดความรู้อย่างมีความสุขเหมือนทุกวัน และนักเรียนของผม ทั้งเด็กตัวเล็กๆที่ตามพี่ชายมาเรียน ชาวบ้านทั่วไป ก็ยังคงตั้งใจเรียนเหมือนเดิม ตอนนี้ทั้งครูทั้งนักเรียนสนิทกันมากแล้ว เลยสอนพูดคุยกันอย่างสนุกสนานทั้งวัน..









      อีกหลายวันคนเรียนก็ยังสนใจ ตั้งใจเรียนเหมือนเดิม แถมเริ่มมีความสนิทกันระหว่างครูกับลูกศิษย์ อีกทั้งยังเก่งและเข้าใจเกินความขาดหมายอีก วันนี้แม้แต่เณรยังมาเรียนรู้วิชาช่างยนต์เลย เอ๊ะแล้วเวลาเณรซ่อมเสร็จแล้ว จะรองรถอย่างไรนะ จีวรคงปลิวแน่ๆ เลย..






     และในบางวันหลังเลิกเรียนก็มีบ้างที่บรรดา ครูหนุ่มๆ ทั้งครู ตชด. และ ครูอาชีวะ ก็จะมาสังสรรค์กันบ้างกับเสบียงที่เตรียมมาจากข้างล่าง เพราะข้างบนอย่าว่าแต่เหล้าเบียร์เลย อาหารปะทังชีวิตยังหายากเลย ดูขนาดแก้วเบียร์ยังต้องใช้แก้วกาแฟกินเลย เอาเป็นว่าเราไม่สนใจรสชาติของเหล้าเบียร์ หรืออุปกรณ์ในการดื่ม แต่เราสนใจบรรยากาศในวงสุราดีกว่า เพื่อนผมที่เป็นครูใหญ่ของโรงเรียน ตชด. จ่าขิต แต่ก่อนอื่นขอเล่าเรื่องส่วนตัวของจ่าขิตให้ฟังหน่อย แกเป็นคนบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จบโรงเรียนพลตำรวจ แล้วเลือกสังกัด ตชด.แล้วอาสาเข้ามาเป็นครู ตชด. ที่นี่หลายปีแล้ว ปัจจุบันแกมีภรรยาเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงตอนนั้นแกมีลูกแฝดเป็นผู้หญิงวัยกำลังน่ารักเลย อายุประมาณ 1 ขวบน่าจะได้ บ้านภรรยาแกอยู่แถวปากทางเข้าน้ำตกทีลอซู ผมเคยไปเที่ยวบ้านแกครั้งหนึ่งระหว่างที่สอนอยู่ด้วยกัน แกเป็นคนนิสัยดี อารมณ์ดี พูดตลก เด็กๆชอบ ช่วงว่างๆแกจะแต่งกลอน สุภาษิต ติดตามโรงเรียน บ้านพักครู เยอะแยะไปหมด อารมณ์ศิลปินจริงๆ (เอ๊ะหรือมีเวลาว่างเยอะกันแน่) เสียดายจำไม่ได้สักกลอน..

    พูดถึงเรื่องศิลปินที่อุ้มฝาง มีศิลปินครูเพลงคนหนึ่งที่หลายคนรู้จักดี หรือหลายคนอาจไม่รู้จัก ครูซันไง แกก็อยู่ที่อุ้มผางนี่แหละ ครูซันหลายคนคงรู้จักดี ก็คนที่แต่งเพลงให้หนูมิเตอร์ร้องจนโด่งดังไง แล้วก็แต่งให้อีกหลายคนนะ ตัวแกเองก็เล่นดนตรีเก่งด้วย แต่ไม่แน่ใจมีอารบลัมเป็นของตัวเองหรือปล่าวเพราะผมไม่ค่อยเชี่ยวชาญเรื่องนี้เท่าไร..








     ปัจจุบันครูซันแกเปิดร้านอาหารเป็นแนวๆเพื่อชีวิตอยู่แถวทางเข้าน้ำตกทีลอซู ถ้าใครได้ไปเที่ยวอุ้มผางแล้วถ้าไม่ได้แวะมาเที่ยวร้านบ้านครูซันถือว่ามาไม่ถึงอุ้มผาง.. นะพี่จ่าขิตเขาบอก









     ส่วนน้ำตกทีลอซูช่วงที่อยู่ที่โรงเรียน ตชด. ไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวแต่เพื่อนครู ตชด. เล่าให้ฟังว่าสวยมาก ถ้ามีโอกาสจะต้องไปเที่ยวสักครั้ง ครั้งนี้เลยไม่รู้จะบรรยายความสวยให้รู้อย่างไร ต้องขออำภัยด้วยนะครับพี่น้อง..


    ในช่วงที่สอนอยู่โรงเรียน ตชด. ผช.ผอ.ท่านได้เป็นประธานถวายผ้าป่าของทางวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชรให้กับวัดในหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงด้วย..










      พระในวัดกะเหรี่ยงมีพระ 1 รูป เณร 4 รูป จากการสอบถามชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบอกว่าพระหนุ่มรูปนี้เป็นคนกรุงเทพอายุ 30 กว่าๆ เรียนจบถึงปริญญาโทแต่ชอบความสันโดษเลยมาจำวัดอยู่ที่นี่นานแล้ว ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงยังเล่าให้ฟังอีกว่านานๆทีจะมีโยมพ่อโยมแม่นำคณะจากกรุงเทพมาทำบุญ แล้วนำสิ่งของมาบริจาคเด็กๆชาวเขาด้วย มากมาย ประมาณว่าครอบครัวท่านรวยมากนั้นเอง ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงรักเคารพและศรัทธาท่านอย่างมาก





     ผมลองทดสอบความรู้ของเณรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่หลวงพี่ท่านสอนที่วัด เณรสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นๆ ได้ดีกว่าเด็กที่เรียนที่โรงเรียน ตชด.อีก เอ๊ะพูดอย่างนี้ถ้าพวกครู ตชด. ได้ยินสงสัยชกปากผมแน่ แต่ผลการทดสอบของผมเป็นอย่างนั้นจริงๆ






      ผมเองรับบทหนักนอกจากเป็นครูผู้สอนแล้วยังทำหน้าที่ อาจารย์โสตฯ อีก ทั้งถ่ายภาพนิ่ง ภาพวีดีโอ เลยไม่ค่อยมีรูปตัวเองเท่าไร น่าเสียดายจัง..










       ผู้กอง แกเป็นผู้บังคับบัญชาของ ครู ตชด. ผมจำชื่อท่านไม่ได้จริงๆ แต่ท่านเป็นตัวแทนของครู ตชด. ถวายผ้าป่ากับเจ้าอาวาสด้วย










    ในคืนสุดท้ายที่อยู่ที่โรงเรียน ตชด. ก่อนกลับ ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมการแสดงรอบกองไฟของนักเรียนชาวเขา เพื่อเป็นเกียรติกับคณะของเรา ผช.ผอ.เป็นประธานในพิธี งานนี้ท่าน ผช.ผอ.มีของขวัญเล็กๆน้อยๆ มาเป็นรางวัลให้เด็กๆ ด้วย








   เริ่มต้นด้วยการแสดงของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านการแสดงชุดนี้เห็นชาวม้งบอกว่าเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ร่วมในพิธี และประธานในพิธี










      การแสดงชุดต่อไปเป็นการแสดงของนักเรียนอายุโตหน่อย ออกมาวาดลวดลายที่ฝึกซ้อมกันอย่างเต็มที่เลย










    ตามด้วยการแสดงของชุดกลาง ก็ยังออกลีลาไม่แพ้รุ่นพี่











     ปิดท้ายด้วยชุดเล็ก ที่การแสดงน่ารักตามประสาวัยของผู้แสดง











       ผมเคยไปชมการแสดงของชาวเขาเผ่าต่างๆ มาหลายครั้งแล้วแต่ไม่มีครั้งใหนที่ผมประทับใจเท่ากับครั้งนี้ เพราะการแสดงครั้งนี้ผู้แสดงเป็นลูกศิษย์ของผม และเขามาแสดงเพื่อส่งผมและคณะ ให้เกียรติผมและคณะซึ่งเป็นครูของเขา ถ้าวันหนึ่งคุณได้เป็นครูคุณจะรู้สึกถึงสัณชาติญาณของความเป็นครูได้เลย ว่ารู้สึกอย่างไร มันอิ่มเอมใจอย่างไรบอกไม่ถูก รู้แต่ว่ามีความสุขที่ได้รับ มีความเศร้าที่ต้องจาก มีความห่วงหาอาทรและผูกพันอย่างสุดซึ้งเกินคำบรรยายจริงๆ



     ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก่อนครูจะลากลับในวันรุ่งขึ้น
เด็กบางคนแค่ช่วงเวลาสั้นๆ พวกเขากับผูกพันกับเรามากถึงขนาดร้องให้โฮเลยก็มี ทำเอาน้ำตาลูกผู้ชายครูอาชีวะศึกษาอย่างผมต้องซึมออกมาเหมือนกัน








        ผมมีพ่อเป็นครู ชีวิตตั้งแต่เล็กจนโตผมเกิดอยู่ในสังคมของผู้ที่มีอาชีพครู ถึงแม้ผมจะเข้ามาใช้บทบาทชีวิตครูเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ผมก็สัมผัสได้กับผู้ที่ถูกเรียกว่าครู
        ผมขอสัญเสริญครูทุกคน โดยเฉพาะครู ตชด. ที่เสียสละความสุขส่วนตัวของตนอุทิศการสั่งสอนให้เด็กๆ ที่อยู่ห่างไกลความเจริญได้มีโอกาสรับรู้รับทราบคาามรู้ทัดเทียมกับเด็กๆที่อยู่ในเมืองเจริญ ข้าพเจ้าขอคารวะอีกครั้ง..

    ภาระหนักอาสาเอาบ่าแบก
          เป็นข้าวแทรกหญ้าคากลางป่าเขา 
    เป็นโคมทองส่องธรรมนำผู้เยาว์ 
          เป็นดังเสาศิลาท้าคลื่นลม 
    ขวาถือชอล์กซ้ายถือปืนยังยืนหยัด 
          ความเจนจัดลุ่มลึกฝึกสั่งสม 
     เปลี่ยนวิถีชีวิตไหม่ในสังคม 
         เจตนารมณ์ มั่นมุง ผดุงไทย 


    ขอคาราวะครู ตชด.ทุกท่าน 

 เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัยกล้าหาญมั่นคง...
      
          ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา...
                     ข้าฯขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์...




10 ความคิดเห็น:

  1. อ่านแล้วช่วยแสดงความคิดเห็น ติชมด้วยนะครับ

    ตอบลบ
  2. I Like Blog You

    ตอบลบ
  3. น่าตื่นเต้นนะครับ

    ตอบลบ
  4. ได้ความรู้เกี่ยวกับอุ้มผางเพิ่มขึ้นมากและขอยกย่องความเสียสละและอุทิศตนของครูชายแดน

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ13 พฤษภาคม 2556 เวลา 22:26

    สวัสดีครับ ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งคัพ ที่อยากตอบแทนสังคมโดยการให้ การบริจาค ผมทำกิจกรรมร่วมกับมหาลัย สร้างห้องสมุด บริจาคสิ่งของ
    อยากรบกวนถามคัพว่าที่อุ้มผางมีโรงเรียนที่ขาดแลนสุดๆที่ไหนแนะนำบ้างคัพ ขอบคุณครับ มานพ 081-8447899

    ตอบลบ
  6. ขอบคุณแทนเด็กๆ และครู ตชด. ล่วงหน้าครับที่มีน้ำใจ รายชื่อโรงเรียนตามลิ้งค์นี้เลยครับ http://kanchanapisek.or.th/kp14/30years/project_bulilding_border.html

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ14 สิงหาคม 2557 เวลา 02:29

    หนูอยากไปเป็นครูสอนน้องๆบนดอยบ้างจังค่ะ

    ตอบลบ
  8. เห็นภาพหมู่บ้านตัวเองสมัยก่อนเป็นภาพที่เห็นแร้วซึ้งมากเรยค่ะ

    ตอบลบ
  9. ในภาพเป็นโรงเรียน ตชด.บ้านแม่กลองใหญ่ แน่นอนครับ ผู้ให้ข้อมูลคงจำคลาดเคลื่อน
    ยืนยัน100% ครับ บ้านแม่กลองใหญ่ ต.โมโกร อ.อุ้มผาง

    ตอบลบ
  10. อยากเห็นรูปโรงเรียน ตชด.บ้านหม่องกั๊วะ
    ไม่รู้มีบ้านหรือเปล่า ครับ

    ตอบลบ